|

บทความวิชาการ เดือนกันยายน

พญ.ธาริณี แม่นชนะ

                                ภาวะอ้วนและมะเร็งในสตรี                                                   (Obesity and Women’s cancers)

      ภาวะอ้วนกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญทั่วโลก ซึ่งถูกจัดว่าเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. 2558-2559 ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้หญิงมีภาวะอ้วนร้อยละ 40 และพบภาวะอ้วนรุนแรง (morbid obesity) ถึงร้อยละ 10 โดยอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (1) ภาวะอ้วนส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพโดยรวมของสตรี ทั้งสุขภาพทางร่างกาย สุขภาพทางใจ รวมถึงคุณภาพชีวิต โดยจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในหลายระบบ และยังเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ รวมถึงโรคมะเร็ง พบว่าสองในสามของโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสัมพันธ์กับภาวะอ้วน (2) คำจำกัดความของภาวะอ้วน โดยทั่วไปใช้ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index, BMI) ที่มากกว่า 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร อย่างไรก็ตาม สำหรับคนเชื้อชาติเอเชียจะใช้เกณฑ์ที่ต่ำลง คือ ค่าดัชนีมวลกายที่มากกว่า 27.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะถือว่ามีภาวะอ้วน (3)
      ภาวะอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในหลายอวัยวะ กลไกการเกิดมะเร็งอาจจะอธิบายได้จากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโทรเจน เซลล์ไขมันผลิตสารที่เกี่ยวข้องกับขบวนการอักเสบ และภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของ สารบางอย่างซึ่งจะไปยับยั้งการตายของเซลล์ และทำให้มีการเพิ่มขึ้นของเซลล์ (4)ดังนั้นจึงพบว่าภาวะอ้วนสัมพันธ์โดยตรงกับมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโทรเจน ได้แก่ มะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโทรเจน โพรเจสเตอโรน ที่พบในสตรีวัยหมดระดู  และ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งนรีเวชที่สัมพันธ์กับภาวะอ้วนมากที่สุด พบว่าผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างน้อยร้อยละ 40 มีภาวะอ้วน และมักพบในอายุที่น้อยกว่าอายุเฉลี่ย (ปกติพบในสตรีวัยหมดระดู) จากการศึกษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในสตรีอายุน้อยกว่า 40 ปี ถึงร้อยละ 10 และร้อยละ 50 ของสตรีเหล่านี้มีภาวะอ้วน (5) สำหรับมะเร็งนรีเวชอื่น ๆ ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งรังไข่ ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจน
      นอกจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว ภาวะอ้วนยังเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งหลอดอาหารชนิด adenocarcinoma เนื่องจากภาวะอ้วนเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะกรดไหลย้อน (6)มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไต มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเยื่อหุ้มสมอง นอกจากนี้ภาวะอ้วนยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเหล่านี้อีกด้วย (6,7)
      โดยสรุป ภาวะอ้วนเพิ่มอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ หลายชนิด รวมถึงเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็ง การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต เช่น การลดน้ำหนัก การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย การสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาวะอ้วนกับมะเร็งจึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน ความพยายามในด้านสาธารณสุขเพื่อให้ความรู้และป้องกันภาวะอ้วนในประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดอุบัติการณ์ของมะเร็งหลายชนิด และทำให้ผลการรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
 เอกสารอ้างอิง

  1. Flegal KM, Kruszon-Moran D, Carroll MD, Fryar CD, Ogden CL. Trends in Obesity Among Adults in the United States, 2005 to 2014. JAMA 2016;315:2284-91
  2. GBD 2015 Obesity Collaborators, Afshin A, Forouzanfar MH, Reitsma MB, Sur P, Estep K, et al. Health Effects of Overweight and Obesity in 195 Countries over 25 Years. N Engl J Med 2017;377:13-27.
  3. WHO Expert Consultation. Appropriate body-mass index for Asian populations and its implications for policy and intervention strategies. Lancet. 2004;363:157-63.
  4. Staley SA, Tucker KR, Clark LH. The Role of Obesity in the Development and Management of Gynecologic Cancer. Obstet Gynecol Surv. 2020 May;75(5):308-316.
  5. Manchana T, Khemapech N. Endometrial adenocarcinoma in young Thai women. Asian Pac J Cancer Prev 2008;9:283-6.
  6. Kahan S, Winston G. Addressing Obesity in Clinical Gynecology Practice. Clin Obstet Gynecol. 2018;61:10-26.
  7. Avgerinos KI, Spyrou N, Mantzoros CS, Dalamaga M. Obesity and cancer risk: Emerging biological mechanisms and perspectives. Metabolism 2019;92:121-35.

Similar Posts