บทความวิชาการ เดือนมิถุนายน

มะเร็งรังไข่สามารถตรวจเจอได้ในระยะเริ่มแรกหรือไม่

พญ.ปานวาด รัตนศรีทอง

ปัจจุบันข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติมะเร็งรังไข่ถูกพบเป็นลำดับที 7 ของมะเร็งในสตรีไทย โดยทั่วไปแล้วพบว่าในคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่นั้นมีเพียง 20% ที่ถูกวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งในผู้ป่วยที่ตรวจพบในระยะเริ่มแรกและได้รับการรักษานั้นมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี มากกว่า 94% แต่ปัญหาคือมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรกนั้นไม่มีอาการที่เฉพาะเจาะจงหรืออาจไม่มีอาการเลยในผู้ป่วยบางราย  อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่เช่น อืดแน่นท้อง เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลำได้ก้อน ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย อาการเหล่านี้แม้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งรังไข่แต่ถ้ามีอาการบ่อยหรือมีอาการติดต่อกันหลายสัปดาห์แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเช่นการทำ PAP smear หรือ การตรวจ HPV test ไม่สามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้แต่การตรวจภายในกับแพทย์เฉพาะทางสามารถที่จะบอกขนาดของมดลูกและรังไข่ได้ ในกรณีที่ก้อนมีขนาดเล็กอาจจะบอกได้ยากหรือไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจภายในเพียงอย่างเดียว

จากการศึกษาในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการคัดกรองใดที่แนะนำให้ทำหรือมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้คัดกรองในผู้หญิงทั่วไปที่ความเสี่ยงต่ำและไม่มีอาการ

การตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดเพื่อดูมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ช่วยในการตรวจหาก้อนในมดลูกและรังไข่ได้แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ซึ่งตามสถิติแล้วก้อนที่พบส่วนมากจะไม่ใช่มะเร็ง ในส่วนของการเจาะเลือด CA-125 ค่า CA-125 นั้นเป็นค่าโปรตีนตัวหนึ่งในเลือดที่มักพบว่ามีค่าสูงขึ้นในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ จึงถูกนำมาใช้เป็นสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) เพื่อติดตามหลังได้รับการรักษา การเจาะค่า CA-125 ในผู้หญิงปกติเพื่อใช้คัดกรองมะเร็งรังไข่ยังไม่พบว่ามีประโยชน์อย่างชัดเจนเพราะมักพบค่านี้สูงขึ้นในโรคอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็งเช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่(Endometriosis) และการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (PID) อีกทั้งไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ทุกคนที่จะพบว่ามีค่า CA-125 สูงกว่าปกติ

ดังนั้นในผู้หญิงปกติที่ไม่มีอาการยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดระบุหรือแนะนำวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่ควรทำ จากการศึกษาหลายการศึกษาพบว่าการตรวจคัดกรองด้วยการทำอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดและ CA-125 ไม่ช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งรังไข่แต่จะเพิ่มอัตราการผ่าตัดจากการพบโรคอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ได้สูงได้แก่ผู้ที่มียีน BRCA1 BRCA2 หรือมีประวัติมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในครอบครัวการตรวจคัดกรองด้วยการทำอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดและ CA-125 อาจจะมีประโยชน์ถึงแม้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่พบว่าการตรวจจะลดโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่ได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามการตรวจภายในสตรีตามคำแนะนำของแพทย์ก็ยังมีประโยชน์เช่น ในสตรีที่มีอาการผิดปกติ สตรีที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคทางมะเร็งนรีเวช การทำการตรวจภายในสตรีร่วมกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น



Similar Posts