บทความวิชาการ เดือนตุลาคม
พญ.รัฐิญา เพียรพิเศษ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การดูแลสุขภาวะทางเพศในผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชแบบองค์รวม
ในฐานะแพทย์มะเร็งวิทยานรีเวช เราต่างคุ้นเคยกับการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชตามแนวทางมาตรฐาน ทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี แต่มีมิติหนึ่งของการดูแลที่มักถูกมองข้าม นั่นคือผลกระทบต่อสุขภาวะทางเพศของผู้ป่วย จากข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งกว่าร้อยละ 60 ประสบปัญหาด้านสุขภาพเพศ แต่มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ป่วยไม่กล้าเริ่มพูดคุยเรื่องนี้กับแพทย์ผู้ดูแลเนื่องจากกลัวการถูกตีตรา และการที่แพทย์ไม่ได้ให้ข้อมูล เกี่ยวกับปัญหาทางเพศที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรักษา รวมถึงไม่ได้ถามถึงอาการทางเพศ เมื่อผู้ป่วยมาตรวจติดตาม ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็ง มีปัญหาเรื้อรัง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ จึงเป็นหน้าที่ของทีมผู้ให้การรักษา ที่จะต้องประเมินสุขภาพเพศของผู้ป่วย และตรวจให้พบปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้วางแนวทางการดูแลต่อเนื่องร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม
ผลของการรักษามะเร็งต่อปัญหาสุขภาพเพศในผู้ป่วย
การรักษามะเร็งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางเพศในหลายมิติ ในผู้ป่วยเพศหญิง ปัญหาที่พบบ่อยคือการขาดความต้องการและอารมณ์เร้าทางเพศ ซึ่งมีสาเหตุหลักจากยาเคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด และยาต้านฮอร์โมนกลุ่ม Aromatase inhibitors ที่ส่งผลให้เกิดภาวะพร่องเอสโตรเจน และยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทและระบบประสาทส่วนกลาง ร่วมกับอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย ปวด คลื่นไส้ อาเจียน ที่ส่งผลทางอ้อมต่อความต้องการทางเพศ ปัญหาอื่นที่พบได้ คือ ภาวะช่องคลอดแห้งและเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมักเป็นผลจากภาวะรังไข่หยุดทำงานเฉียบพลันจากการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี รวมถึงการเกิดพังผืดหรือรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดและฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน
ในผู้ป่วยเพศชาย ปัญหาหลักที่พบคือภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว สาเหตุสำคัญมาจากการบาดเจ็บต่อเส้นประสาทอัตโนมัติบริเวณอุ้งเชิงกรานจากการผ่าตัด และการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนเลือดบริเวณอวัยวะเพศ นอกจากนี้ การเกิดพังผืดหรือรอยแผลเป็นยังอาจส่งผลต่อกายวิภาคของอวัยวะเพศและการไหลกลับของเลือดดำขณะมีการแข็งตัว ส่วนมากมักพบในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก
ทั้งผู้ป่วยชายและหญิงอาจประสบปัญหาการไม่ถึงจุดสุดยอด รวมถึงปัญหาการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีรูทวารเทียมหรือได้รับการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความมั่นใจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาวะทางเพศโดยรวม การตระหนักถึงกลไกการเกิดปัญหาเหล่านี้จะช่วยให้สามารถวางแผนการป้องกันและดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม
แนวทางการดูแลรักษาสุขภาวะทางเพศในผู้ป่วยมะเร็ง
ในปี พ.ศ. 2560 สมาคมมะเร็งของอเมริกา ได้ออกข้อแนะนำ ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งหลังได้รับการรักษา เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยให้ครอบคลุมถึงปัญหาสุขภาวะทางเพศ ดังนี้
-
การประเมินสุขภาวะทางเพศควรเริ่มตั้งแต่การวินิจฉัยโรค แพทย์ควรมีการพูดคุย ถึงผลของมะเร็ง รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนของการรักษา ต่อสุขภาพเพศของผู้ป่วย โดยคุยถึงความคาดหวัง และแนวทางการรักษา เพื่อช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น การเลือกใช้เทคนิคการผ่าตัดที่สงวนเส้นประสาท หรือการวางแผนการฉายรังสีที่ลดผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
-
ผลกระทบทางจิตใจเป็นอีกมิติที่สำคัญ ผู้ป่วยมักประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์ ความวิตกกังวล และความสัมพันธ์กับคู่สมรส การให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมและการส่งต่อผู้เชี่ยวชาญด้านเพศวิทยาเมื่อจำเป็น จึงเป็นส่วนสำคัญของการดูแลแบบองค์รวม
-
รักษาโรคทางกายที่สามารถแก้ไขได้ เช่น ในปัจจุบัน มีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนการใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ป่วยมะเร็งบางกลุ่ม การศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมพบว่า การใช้ฮอร์โมนขนาดต่ำทางช่องคลอด ไม่เพิ่มความเสี่ยงการกลับเป็นซ้ำ ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกสามารถใช้ฮอร์โมนทดแทนได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การใช้เลเซอร์รักษาอาการกลุ่มอาการทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ในรายที่มีปัญหาวัยทองจากการรักษามะเร็ง หรือแม้แต่การแนะนำให้ใช้สารหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ ก็แสดงผลลัพธ์ที่น่าพอใจในการฟื้นฟูสุขภาพเพศ
-
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) การฝึกหายใจ และการสะกดจิต หรือการใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการ
บทสรุป
การดูแลสุขภาวะทางเพศควรได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช โดยจำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งระบบ เพื่อการดูแลคนไข้อย่างเป็นองค์รวม เช่น การจัดตั้งคลินิกเฉพาะทางและการพัฒนาทีมสหสาขาวิชาชีพ การประเมินและให้การดูแลตั้งแต่ระยะแรกไม่เพียงช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของปัญหา แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
-
Lehmann V, Laan ETM, den Oudsten BL. Sexual health-related care needs among young adult cancer patients and survivors: a systematic literature review. J Cancer Surviv. 2022;16(4):913-24.
-
Ratner ES, Foran KA, Schwartz PE, Minkin MJ. Sexuality and intimacy after gynecological cancer. Maturitas. 2010;66(1):23-6.
-
Sinno AK, Pinkerton J, Febbraro T, Jones N, Khanna N, Temkin S, et al. Hormone therapy (HT) in women with gynecologic cancers and in women at high risk for developing a gynecologic cancer: A Society of Gynecologic Oncology (SGO) clinical practice statement. Gynecol Oncol. 2020;157(2):303-6.