บทความวิชาการ เดือนกรกฎาคม

การใช้ยามุ่งเป้าแบบรับประทานในโรคมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว

นพ.แมน ทองอร่าม

ในปัจจุบันเนื่องจากการพัฒนาความรู้ทางด้านอณูชีววิทยา (Molecular biology) ทำให้การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง และแพร่หลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มระยะการปลอดโรค ลดอัตราการเกิดเป็นซ้ำ และช่วยเพิ่มระยะเวลาการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยมะเร็งทางนรีเวชให้ยาวนานมากขึ้น

            เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ในระยะต้นที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 70 ถูกตรวจพบเมื่อเป็นระยะลุกลาม ซึ่งการรักษาหลัก จะประกอบไปด้วยการผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัด แต่อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวในระยะลุกลามหลังจากรักษาแล้วจะพบอัตราการกลับเป็นซ้ำได้สูง โดยมักจะพบการกลับเป็นซ้ำในช่วง 3 ปีแรกหลังการรักษา ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการรักษาแนวใหม่แบบมุ่งเป้า เพื่อเป็นการรักษาต่อเนื่องหลังจากการผ่าตัดและให้ยาเคมีบำบัด เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ และเพิ่มระยะเวลาการมีชีวิตรอดของผู้ป่วย โดยข้อบ่งชี้ของการให้ยาจะมีความเฉพาะเจาะจงตามลักษณะของผู้ป่วยแต่ละราย ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวทุกรายได้

            โดยยามุ่งเป้าแบบรับประทาน (Poly (ADP-ribose) Polymerase Inhibitors) เป็นยาที่มีกลไกในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยมีเป้าหมายในการยับยั้งการซ่อมแซมสายพันธุกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในกระบวนการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดยข้อบ่งชี้ในการใช้ยามุ่งเป้าแบบกินนั้น จะมีประสิทธิภาพในผู้ป่วยกลุ่มที่มีการตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนที่มีบทบาทในการซ่อมแซมสายพันธุกรรม หลักๆคือ BRCA1 และ BRCA2 และรวมถึงยีนอื่นๆในกระบวนการซ่อมแซมสายพันธุกรรมที่สำคัญในกลุ่ม HRR (Homologous Recombination Repair)

            ซึ่งการรักษาด้วยยามุ่งเป้าแบบรับประทานจะสามารถใช้ได้ทั้งในการรักษาต่อเนื่องหลังจากการรักษาครั้งแรกโดยจะให้เป็นยารับประทานชนิดเดี่ยว หรือให้ร่วมกับยามุ่งเป้าในกลุ่มยับยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ของเนื้องอก หรือจะเป็นยารับประทานชนิดเดี่ยวในการรักษาต่อเนื่องในผู้ป่วยมะเร็งกลับเป็นซ้ำชนิดไวต่อยาเคมีบำบัดก็ได้ โดยประสิทธิภาพของยามุ่งเป้าแบบรับประทาน จะสามารถช่วยยืดระยะเวลาการปลอดโรคในกลุ่มที่รักษาครั้งแรกได้เฉลี่ยสูงถึงประมาณ 43 เดือน และยืดระยะเวลาการปลอดโรคในกลุ่มผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำได้เฉลี่ยประมาณ 12 เดือน

            โดยอาการข้างเคียงจากยามุ่งเป้าแบบรับประทานที่พบได้ส่วนใหญ่จะเป็น อาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และภาวะโลหิตจาง ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นอาการข้างเคียงแบบไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถใช้ยาต่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดหรือลดปริมาณยา

Similar Posts