|

บทความวิชาการ เดือนมกราคม 2568

รศ.นพ.รักชาย บุหงาชาติ
ภาควิชาสูตินรีเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อาหารกับโรคมะเร็งทางนรีเวช

    จากสถิติในปีพ.ศ. 2563 มีผู้ป่วยมะเร็งเกิดขึ้นทั่วโลกประมาณ 18.1 ล้านคน และเสียชีวิตจากมะเร็งเกือบ 10 ล้านราย(1)  นักวิทยาศาสตร์พบว่ามะเร็งเริ่มต้นมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมภายในร่างกายในการควบคุมการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์ แต่ตัวร่วมที่เสริมให้เกิดโรคมะเร็งซึ่งมีความสำคัญมากกว่ากรรมพันธ์ กลับเป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิต ได้แก่ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกาย หรือโรคอ้วน(2) ดังพบว่า การบริโภคทองแดงและคาเฟอีน มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งนรีเวชบางชนิด ในขณะที่การบริโภควิตามินบี 12 ฟอสฟอรัส และแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ในเชิงป้องกันกับมะเร็งกลุ่มดังกล่าว(3)

    อาหารเพื่อสุขภาพ (healthy food) เป็นอาหารซึ่งมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วนและสมดุล ซึ่งมีคุณลักษณะกว้างๆร่วมกันคือ

  1. เน้นการเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปราศจากสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายระยะยาว โดยมากประกอบด้วยผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนคุณภาพสูงจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ถั่ว และไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอกหรืออาโวคาโด(ลูกเนย)

  2. ลดการบริโภคน้ำตาล โซเดียม ไขมันทรานส์ (เนยเทียม, เนยขาว, ครีมเทียม, วิปครีม, ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย)

  3. ต้องมีแคลอรี่ที่เหมาะสม

    อาหารเพื่อสุขภาพเหมาะสำหรับสตรีเป็นอย่างมาก ทั้งช่วยในการรักษารูปร่างและน้ำหนักที่เหมาะสมกับร่างกาย ยังช่วยในการทำงานของฮอร์โมน บำรุงผิวพรรณ กระดูก การป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ และผลต่อมะเร็งทางนรีเวช

คุณประโยชน์ของอาหารเพื่อสุขภาพต่อมะเร็งของอวัยวะสืบพันธ์สตรี และตัวอย่างอาหาร

  1. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน การบริโภคอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น วิตามิน C, E และเบต้าแคโรทีนจากผักและผลไม้สด สามารถปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระได้ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งโดยทั่วไป(4)

  2. ลดการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดมะเร็ง โดยการเสริมสร้างสุขภาพเนื้อเยื่อด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม วิตามิน D และกรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น จากปลาที่มีไขมันสูงและธัญพืช(3)

  3. ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยการรับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง เช่น ถั่ว และผักใบเขียว (ผักโขมและบรอกโคลี) (5)

  4. การบริโภคอาหารที่มีใยอาหารสูง: เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ผัก และผลไม้ ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก(3)

  5. ควบคุมน้ำหนักและปรับสมดุลฮอร์โมน การบริโภคใยอาหารสูงจากผักและผลไม้ช่วยในการควบคุมระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่สูงผิดปกติ และ ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับมะเร็งมดลูก(3)

อ้างอิง
  1. Sung H., Ferlay J., Siegel R.L., Laversanne M., Soerjomataram I., Jemal A., Bray F. Global Cancer Statistics 2020: GLOBOCAN Estimates of Incidence and Mortality Worldwide for 36 Cancers in 185 CA Cancer J. Clin. 2021;71:209–249.

  2. Gonzalez C.A., Riboli E., Overvad K., Tjonneland A., Clavel-Chapelon F., Kaaks R., Boeing H., Trichopoulou A., Palli D., Krogh V., et al. Diet and Cancer Prevention: Contributions from the European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition (EPIC) Study. Eur. J. Cancer. 2010;46:2555–2562.

  3. Zhu G, Li Z, Tang L, Shen M, Zhou Z, Wei Y, Zhao Y, Bai S, Song L. Associations of Dietary Intakes with Gynecological Cancers: Findings from a Cross-Sectional Study. Nutrients. 2022 Nov 25;14(23):5026.

  4. Muñoz A., Grant W.B. Vitamin D and Cancer: An Historical Overview of the Epidemiology and Mechanisms. Nutrients. 2022;14:1448.

  5. Wang Z., Wang W., Yang A., Zhao W., Yang J., Wang Z., Wang W., Su X., Wang J., Song J., et al. Lower dietary mineral intake is significantly associated with cervical cancer risk in a population-based cross-sectional study. J. Cancer. 2021;12:111–123.

Similar Posts