บทความวิชาการ เดือนธันวาคม
นพ. อรรถพล ใจชื่น, พญ. เขมณัฎฐ์ เขมวรพงศ์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในโรคมะเร็งทางนรีเวช: การพัฒนาและข้อดีในทางคลินิก
โรคมะเร็งทางนรีเวชถือเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงทั่วโลก การผ่าตัดยังคงเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาหลักสำหรับมะเร็งนรีเวช ซึ่งการพัฒนาของเทคโนโลยีในการผ่าตัดได้มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษา การผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบดั้งเดิมแม้ว่าจะยังคงใช้ในการรักษามะเร็งบางชนิด แต่ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงจากแผลผ่าตัดที่ใหญ่ การฟื้นตัวที่ช้า และความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ การเจ็บปวดหลังการผ่าตัด รวมถึงการมีแผลเป็นที่ชัดเจน
เพื่อแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ การผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopy) ได้ถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็งทางนรีเวชตั้งแต่หลายปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดขนาดของแผลผ่าตัด ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน และเร่งกระบวนการฟื้นตัวของผู้ป่วยได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดผ่านกล้องยังคงมีข้อจำกัดในแง่ของแพทย์ผู้ผ่าตัดต้องมีความเชี่ยวชาญสูง การเคลื่อนไหวที่จำกัดจากเครื่องมือที่ใช้และความท้าทายในการเข้าถึงอวัยวะที่ซับซ้อน เช่น ต่อมน้ำเหลือง เป็นตัน ด้วยเหตุนี้ การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ โดยการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการควบคุมเครื่องมือผ่าตัดผ่านการควบคุมจากคอนโซล ซึ่งช่วยให้การผ่าตัดมีความแม่นยำสูงขึ้น สามารถทำการเคลื่อนไหวได้มากกว่า 7 ทิศทาง และให้ภาพสามมิติที่ชัดเจนของอวัยวะภายใน ช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงอวัยวะที่ซับซ้อน เช่น ต่อมน้ำเหลือง หรือบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง
ข้อดีของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในผู้ป่วยมะเร็งทางนรีเวช:
-
ลดการสูญเสียเลือด: การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์มีความแม่นยำในการตัดและผูกเส้นเลือด ซึ่งสามารถลดการสูญเสียเลือดได้มากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
-
การฟื้นตัวที่เร็วขึ้น: ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์สามารถฟื้นตัวเร็วขึ้นจากการผ่าตัด เนื่องจากขนาดของแผลที่เล็กและการทำงานที่แม่นยำ
-
ลดระยะเวลาในการรักษา: ผู้ป่วยมักจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดท้อง เนื่องจากอาการเจ็บปวดน้อยกว่าและฟื้นตัวเร็วกว่า
-
การเข้าถึงอวัยวะที่ซับซ้อน: หุ่นยนต์สามารถเข้าถึงอวัยวะที่ยากต่อการเข้าถึงได้ดีกว่า เช่น การผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองที่มักเป็นแหล่งของการแพร่กระจายของมะเร็ง
-
ภาพสามมิติ: การใช้ระบบภาพสามมิติช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นรายละเอียดของอวัยวะภายในได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด
ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีนี้มาช่วยผ่าตัดในหลายระบบอวัยวะ เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร การผ่าตัดทางนรีเวชมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 ในการผ่าตัดทางมะเร็งนรีเวชมีทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบหรือ systematic review พบว่าในการผ่าตัดมะเร็งเยื่อบุมดลูก (Endometrial cancer) การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดนั้นมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในการลดการสูญเสียเลือด การฟื้นตัวเร็วขึ้น ระยะเวลานอนโรงพยาบาลสั้นลง และสามารถเอารอยโรคที่ยากเช่นบริเวณต่อมน้ำเหลืองได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในประเทศไทย การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดมะเร็งเริ่มต้นใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ปี 2550 และเริ่มมีการนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งทางนรีเวชในช่วงหลัง โดยเฉพาะในการผ่าตัดมะเร็งเยื่อบุมดลูก เช่น คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น แต่ยังมีข้อจำกัดจากค่าใช้จ่ายที่สูง โรงพยาบาลศิริราชมี “โครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี 70 พรรษา เพื่อรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาสที่มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปี พ.ศ. 2567-69” ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
สรุป
การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ในมะเร็งทางนรีเวชถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญ ซึ่งช่วยเพิ่มความแม่นยำ ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น การเลือกใช้เทคนิคนี้ควรพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง, ระยะของโรค, สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย และความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ การให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษากับผู้ป่วยอย่างรอบคอบจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
Reference
-
Zivaljević M, Majdevac I, Novaković P, Vujkov T. The role of laparoscopy in gynecologic oncology. Med Pregl. 2004;57(3-4):125-31.
-
Lenihan JP, Jr. How to set up a robotic-assisted laparoscopic surgery center and training of staff. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol. 2017;45:19-31.
-
Yim GW, Kim YT. Robotic surgery in gynecologic cancer. Curr Opin Obstet Gynecol. 2012;24(1):14-23.
-
Gala RB, Margulies R, Steinberg A, Murphy M, Lukban J, Jeppson P, et al. Systematic review of robotic surgery in gynecology: robotic techniques compared with laparoscopy and laparotomy. J Minim Invasive Gynecol. 2014;21(3):353-61.